วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556

ฟันปลอม

ฟันปลอม คือ ฟันที่มาทดแทนฟันจากธรรมชาติที่เราสูญเสียไป เพื่อช่วยให้การทำงานของช่องปากมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังช่วยให้เรามีความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้นด้วย ฟันปลอมแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
 

ฟันปลอมติดแน่น
      ฟันปลอมติดแน่น เป็นฟันปลอมถาวรที่ยึดแน่นในช่องปากโดยอาศัยฟันธรรมชาติซี่ที่อยู่ข้างเคียงกับช่องว่างเป็นหลักในการยึดฟันปลอม ฟันปลอมชนิดนี้ผู้ที่ใส่ไม่สามารถถอดออกมาเพื่อทำความสะอาดภายนอกช่องปากได้ ดังนั้นถ้าไม่เอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษ ฟันธรรมชาติที่เป็นฟันหลักอาจผุและไม่สามารถใช้งานเป็นหลักยึดฟันปลอมต่อไปได้หรืออาจจะต้องถอนฟันเพิ่ม
ฟันปลอมติดแน่นจะไม่ขยับหรือหลวมหลุดในขณะที่พูดหรือเคี้ยวอาหาร ทำให้ผู้ที่ใส่มีความมั่นใจ และเนื่องจากขนาดชิ้นฟันปลอมที่ค่อนข้างเล็ก จึงไม่ค่อยก่อให้เกิดความรำคาญ มีประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวค่อนข้างสูง โดยแรงจากการบดเคี้ยวจะถูกถ่ายทอดไปสู่ฟันธรรมชาติซี่ข้างเคียงที่ใช้เป็นหลักยึดฟันปลอมโดยตรง อย่างไรก็ตามฟันปลอมชนิดนี้ มีข้อเสียที่สำคัญมาก ได้แก่ การสูญเสียเนื้อฟันของฟันธรรมชาติที่อยู่ข้างเคียงที่จะต้องถูกกรอแต่งเพื่อให้มีขนาดเล็กลงเพื่อใช้เป็นฟันหลักสำหรับยึดฟันปลอม
      ฟันปลอมชนิดรากเทียม เป็นฟันปลอมชนิดถาวรติดแน่นอีกชนิดหนึ่งที่จะยึดแน่นในช่องปากเช่นกันโดยการยึดกับกระดูกภายใต้ช่องว่างที่จะใส่ฟัน การใส่ฟันชนิดนี้จะคล้ายคลึงกับการปลูกฟันธรรมชาติที่สูญเสียไปขึ้นมาใหม่ เนื่องจากจะเป็นการจำลองลักษณะของฟันเดิมทั้งในส่วนของตัวฟันและรากฟัน ฟันปลอมชนิดนี้จะมีความสวยงามและประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวจะใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติมาก เมื่อผู้เข้ารับการรักษาออกแรงเคี้ยวอาหารแรงบดเคี้ยวจะถูกถ่ายทอดไปสู่กระดูกขากรรไกรที่อยู่ข้างใต้โดยตรง
     นอกจากนี้แล้วฟันปลอมชนิดนี้ค่อนข้างจะมีความคงทนแข็งแรง ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อฟันธรรมชาติและเหงือกที่อยู่โดยรอบ เนื่องจากไม่ต้องมีการกรอแต่งฟันธรรมชาติข้างเคียง ข้อเสียของฟันปลอมชนิดนี้ จะใช้เวลาทำนานกว่าฟันปลอมชนิดอื่น เนื่องจากต้องรอให้กระดูกโดยรอบยึดกับรากเทียมอย่างเต็มที่ก่อนที่ทันตแพทย์จะใส่ฟันปลอมส่วนที่เป็นตัวฟัน
ส่วนค่าใช้จ่ายของการทำรากเทียมนั้นจะสูงกว่า แต่ไม่สามารถใส่ได้ในผู้เข้ารับการรักษาทุกราย สำหรับผู้ที่มีปัญหาในการดูแลสุขภาพช่องปาก ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานบางชนิด ผู้เข้ารับการรักษาที่เคยถูกฉายรังสีรักษาในบริเวณใบหน้า ตลอดจนผู้ที่มีโรคทางระบบบางโรค และผู้ที่สูบบุหรี่ อาจส่งผลเสียต่อการยึดติดของรากเทียมได้ ดังนั้นการพิจารณาผู้ที่เหมาะสมกับฟันปลอมชนิดนี้จึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์ผู้ทำการรักษา และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคุยปรึกษาแผนการรักษากับผู้เข้ารับการรักษาอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจทำ

ฟันปลอมถอดได้
     เป็นฟันปลอมสามารถถอดออกมาเพื่อทำความสะอาดข้างนอกช่องปากได้ มีทั้งชนิดชั่วคราวที่ทำด้วยพลาสติกและชนิดถาวรที่ทำด้วยโลหะ ข้อดีของฟันปลอมชนิดนี้ ช่วยให้ผู้ที่ใส่สามารถดูแลรักษาความสะอาดได้ง่าย ขั้นตอนในการทำไม่ยุ่งยาก มีการกรอแต่งสูญเสียเนื้อฟันธรรมชาติน้อย ไม่เสียเวลามาก และมีค่าใช้จ่ายในการทำที่ค่อนข้างต่ำกว่าฟันปลอมชนิดอื่นๆ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามการบดเคี้ยว
      • แรงจากการบดเคี้ยวกระจายลงสู่ซี่ฟันทั้งหมด ฟันปลอมประเภทนี้จะมีประสิทธิภาพดีกว่าฟันปลอมถอดได้ประเภทอื่นๆ
      • แรงบดเคี้ยวจะกระจายลงสู่สันเหงือกที่รองรับฟันปลอมทั้งหมด เหมาะสำหรับผู้ไม่มีฟันธรรมชาติเหลืออยู่ในช่องปากเลย
      • แรงบดเคี้ยวบางส่วนกระจายลงสู่ซี่ฟันธรรมชาติบ้างและบางส่วนกระจายลงสู่สันเหงือกที่รองรับฐานฟันปลอม
     อย่างไรก็ตาม รูปร่างและขนาดของฟันปลอมถอดได้จะแตกต่างกันไปตามลักษณะการสูญเสียฟันของผู้เข้ารับการรักษาและฟันธรรมชาติที่ใช้เป็นหลักยึดตะขอฟันปลอม เมื่อเปรียบเทียบกับฟันปลอมติดแน่น ฟันปลอมถอดได้จะสามารถรับแรงบดเคี้ยวได้น้อยกว่า นอกจากนี้ยังอาจมีปัญหาเรื่องความสวยงาม เนื่องจากต้องมีส่วนตะขอของฟันปลอมไปโอบเกี่ยวกับฟันธรรมชาติที่เหลืออยู่ และเมื่อใช้งานฟันปลอมไปนาน ๆ ก็อาจมีปัญหาเรื่องการหลวมขยับหรือหลุดของฟันปลอมขณะใช้งานได้ ดังนั้นเมื่อใส่ฟันปลอมไปแล้ว ผู้เข้ารับการรักษาควรกลับมาพบทันตแพทย์เพื่อตรวจและปรับแต่งแก้ไขฟันปลอมให้อยู่ในสภาพ ที่ดีพร้อมสำหรับการใช้งานอยู่เสมอ
     ช่วงแรกที่ใส่ฟันปลอมใหม่ๆ ผู้รับการรักษาอาจรู้สึกไม่สบายเวลาเคี้ยวซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ของการใส่ฟันปลอม แต่จะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เนื้อเยื่อในช่องปากรวมทั้งกล้ามเนื้อกระพุ้งแก้มและลิ้นจะค่อย ๆ ปรับตัวและเคยชิน ดังนั้นช่วงแรกๆ ของการใส่ฟันปลอม ทันตแพทย์จึงมักแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนๆ จนกว่าจะชินกับฟันปลอม ส่วนการระคายเคืองหรือมีน้ำลายออกมากผิดปกติ เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงแรกๆ เช่นกัน ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ลดลงและหายไปในที่สุดเมื่อช่องปากสามารถปรับตัวเข้ากับฟันปลอม

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก women.thaiza.com